API น้ํามันเครื่อง คืออะไร ทำไมต้องดูก่อนเลือกใช้น้ำมันเครื่อง ?

 

หากคุณใช้รถใช้ถนนบ่อย ๆ แล้วต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเสมอ คงสงสัยกันใช่ไหมล่ะว่า API น้ํามันเครื่อง คือ อะไร ? แบบไหนเหมาะกับรถยนต์คู่ใจของคุณ BEZ เข้าใจข้อสงสัยในส่วนนี้จึงได้รวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ มาบอกต่อคุณแบบเจาะลึกเกี่ยวกับมาตรฐานน้ำมันเครื่อง เพื่อการใช้งานรถที่เต็มสมรรถนะและช่วยยืดอายุการใช้งาน จะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ? วันนี้ BEZ จะเล่าให้ฟัง

API น้ํามันเครื่อง คือ อะไรและมีความหมายว่าอย่างไร ?

“API” นั้นย่อมาจากคำว่า “American Petroleum Institute” เป็นหน่วยงานทดสอบคุณภาพน้ำมันเครื่อง ที่มาจากสมาคมการค้าของสหรัฐอเมริกาสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ได้กำหนดมาตรฐานการหล่อลื่น การชะล้างทำความสะอาด การระบายความร้อน และอื่น ๆ พร้อมแบ่งคุณภาพเป็นระดับต่าง ๆ แน่นอนว่าน้ำมันเครื่องแต่ละรุ่น จะต้องผ่านการทดสอบตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจ 100% ว่าน้ำมันเครื่องรุ่นนั้น ๆ มีคุณภาพจริง ๆ 

 

ที่ผ่านมามีการเพิ่มระดับการแบ่งคุณภาพให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะกับเครื่องยนต์ที่ไม่หยุดการพัฒนา ในปัจจุบันก็แบ่งได้ 2 ประเภท คือ หมวด S สำหรับเครื่องยนต์ “จุดประกายไฟ” ในการจุดระเบิด หรือเครื่องยนต์เบนซิน และหมวด C สำหรับเครื่องยนต์ที่ “จุดระเบิดด้วยการอัด” หรือเครื่องยนต์ดีเซล 

 

ตัวอักษร S หรือ C จะตามด้วยตัวอักษรอีกตัวหนึ่ง ตัวอย่างเช่น SM หรือ CF ยิ่งตัวอักษรสูงขึ้นเท่าไหร่ เทคโนโลยีของน้ำมันจะยิ่งล้ำหน้ามากขึ้นตามเท่านั้น อีกทั้งข้อมูลจำเพาะตัวหนังสือที่สูงกว่า จะสามารถใช้ทดแทนเกรดน้ำมันเครื่องตัวอักษรที่ต่ำกว่าได้ อาทิ หากน้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐานสูงสุดอย่าง SP สามารถใช้ทดแทนกับรถยนต์ที่กำหนดมาตรฐานน้ำมันเครื่องต่ำกว่าอย่าง SN, SM, SL และ SJ ได้ เป็นต้น

หลักการในการอ่านค่า API ที่ระบุไว้ข้างแกลลอนน้ำมันเครื่อง

มาตรฐาน API เป็นตัวบ่งบอก “คุณภาพ” ของน้ำมันเครื่อง โดยมาตรฐาน API จะขึ้นต้นด้วย API และตามด้วยประเภทของเครื่องยนต์ ดังนี้

  • API S คือ Spark Ignition คือการจุดระเบิดด้วยหัวเทียน สำหรับ “เครื่องยนต์เบนซิน”

  • API C คือ Compression Ignition คือการจุดระเบิดด้วยแรงอัด สำหรับ “เครื่องยนต์ดีเซล”

 

จะมีเฉพาะอักษรตัวท้ายตัวเดียวที่เปลี่ยนแปลง โดยจะเริ่มต้นตามภาษาอังกฤษ เช่น A B C … ไล่ไปเรื่อย ๆ ยิ่งไกลจาก A มากเท่าไหร่ ก็แสดงว่าเป็นเกรดคุณภาพสูงมากเท่านั้น API ประกาศใช้ระดับมาตรฐานใหม่ไม่บ่อย อยู่ที่ทุก 3-10 ปี ไล่ห่างจากตัว A และบางตัวอักษรก็ข้ามไป ในส่วนของเบนซินและดีเซลจะไล่ออกมาไม่เท่ากัน 

  • เกรดของน้ำมันเครื่องเบนซิน : API SA SB SC SD SE SF SG SH SJ SL SM SN SP

  • เกรดของน้ำมันเครื่องดีเซล : API CA CB CC CD CE CF-4 CG-4 CH-4 CI-4 (เลข 4 หมายถึงใช้กับเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ)

อัพเดทล่าสุด API SP คืออะไร มีอะไรเพิ่มเติมใหม่สำหรับรถรุ่นปัจจุบัน 

ปัจจุบันเทคโนโลยีของเครื่องยนต์เบนซินถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการลดขนาดเครื่องยนต์ การใช้ระบบหัวฉีดน้ำมัน การเพิ่มระบบอัดอากาศ(เทอร์โบ) เป็นการทำงานพื้นฐานของเครื่องยนต์ รวมถึงระบบกรองอนุภาคไอเสีย ส่งผลให้น้ำมันเครื่องต้องมีการพัฒนาคุณสมบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ที่สูงขึ้นในทุกด้าน ซึ่งในปัจจุบันมาตรฐานสูงสุดอยู่ที่รหัส API SP ที่พัฒนาขึ้นมาจากมาตรฐาน API SN มีอะไรใหม่ที่ถูกพัฒนาบ้าง ตามไปดูกัน

 

 

  1. เพิ่มความสามารถในการช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง

  2. เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการสึกหรอ

  3. ช่วยลดการเกิดการออกซิเดชัน ปฏิกิริยาที่ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพได้เร็ว

  4. ลดปัญหาการชิงจุดระเบิดในรอบเครื่องต่ำ ที่มักจะเกิดกับเครื่องยนต์เบนซินแบบหัวฉีด และส่งผลเสียหายให้กับชิ้นส่วนต่าง ๆ ในเครื่องยนต์ เช่น ลูกสูบ, วาล์ว หรือปะเก็นเครื่องเป็นอย่างมาก

  5. ช่วยลดการสะสมของเขม่าคาร์บอนที่เกิดจากการจุดระเบิด

  6. ช่วยป้องกันการสะสมของตะกอนในน้ำมันเครื่อง

มาตรฐาน API SP เหมาะกับรถยนต์แบบใด ?

สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า มาตรฐานน้ำมันเครื่องเบนซินสูงสุด API SP เหมาะกับเครื่องยนต์ลักษณะใด คำตอบคือ เครื่องยนต์เบนซินที่ใช้ระบบหัวฉีดซึ่งแทบจะมีอยู่ในรถยนต์เบนซินแทบทุกคันในปัจจุบัน แนะนำให้เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ผ่านมาตรฐาน API SP หรือ API SN Plus ในส่วนของรถเบนซินอื่น ๆ ที่อาจจะเก่าหน่อย หรือไม่ใช้ระบบหัวฉีด ก็ยังสามารถเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ได้มาตรฐาน API SP ได้เช่นกัน ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า เกรดสูงกว่าสามารถใช้ทดแทนเกรดเดิมที่ใช้อยู่ก่อนหน้าได้

 

นั่นก็เป็นเพราะว่าการเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มาตรฐาน “ใหม่กว่า” มาตรฐานที่คู่มือรถยนต์แนะนำ จะส่งผลดีในแง่ของการได้รับน้ำมันเครื่องที่มีคุณสมบัติเหนือกว่า ทั้งในด้านประสิทธิภาพและการปกป้องชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์นั่นเอง

เทคนิคการเลือกใช้น้ำมันเครื่อง

1. สภาพการขับขี่และการใช้งานจริง

การเลือกใช้น้ำมันเครื่องก็เหมือนกับการเลือกของต่าง ๆ ที่คุณจะต้องดูวัตถุประสงค์หลักในการใช้งานเสมอ สำหรับการเลือกน้ำมันเครื่องก็เช่นกัน ต้องดูเส้นทางการขับขี่  อาทิ ทางไกล ในเมือง หรือลักษณะการใช้งานเช่น เพื่อแค่โดยสารหรือบรรทุกของหนัก ๆ อยู่เสมอ ทุกปัจจัยล้วนส่งผลต่อการเลือกใช้น้ำมันเครื่องโดยตรง 

2. ประเภทเครื่องยนต์

ประเภทเครื่องยนต์ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกระหว่างเบนซินและดีเซลเท่านั้น แต่หมายถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นเครื่องยนต์ปรับแต่งรอบจัดหรือไม่ มีอุปกรณ์เพิ่มเติมพ่วงเข้ามาด้วยหรือเปล่าที่ทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักกว่าเดิม  เพราะส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นส่วนที่น้ำมันเครื่องเข้าไปมีบทบาทสำคัญ ที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานของชิ้นส่วนต่าง ๆ มากขึ้น

3. เข้าใจค่าความหนืดน้ำมันเครื่อง

ค่าความหนืดน้ำมันเครื่อง คือ “ดัชนี” ที่วัดการหล่อลื่นและการทนความร้อนของน้ำมันเครื่อง ยกตัวอย่างเช่น 10W 30 ที่จะบอกถึงความลื่นของเนื้อน้ำมันสูงสุด และค่าความหนืดสูงสุดในภาวะที่ร้อนที่สุด 

 

หากคุณต้องการสมรรถนะการขับขี่ที่สูงขึ้น ต้องเลือกน้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืดน้อย แต่ยังสามารถทนความร้อนได้สูง ในทางกลับกันหากรถของคุณใช้งานหนัก เน้นบรรทุกสิ่งของชิ้นใหญ่ อาจจะต้องเปลี่ยนมาเลือกน้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืดสูง และมีอัตราการทนความร้อนสูงด้วย เป็นต้น

 

เชื่อว่าหลายคนที่สงสัยในเรื่องของค่า API ในน้ำมันเครื่อง เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงจะเข้าใจแจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าหากคุณยังไม่แน่ใจหรือไม่รู้ว่ารถยนต์คู่ใจของคุณเหมาะกับ API น้ำมันเครื่องแบบไหน ต้องเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน ก็ไม่ต้องกังวล ! เพราะ BEZ พร้อมให้คำปรึกษากับคุณในเรื่องการเลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพ รวมไปถึงอะไหล่รถยนต์คุณภาพสูง เกรดพรีเมียม ครอบคลุมรุ่นรถยนต์ในประเทศไทย รับรองว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณแบบตรงจุดแน่นอน !